วิศวกรรมอาหารมีความเกี่ยวข้องโดยตรงและโดยอ้อมที่เกี่ยวกับการผลิตอาหาร

ประเทศไทยเป็นประเทศที่อุดมไปด้วยผลผลิตการเกษตร

จนได้สมญาว่าเป็นแหล่งผลิตอาหารสำคัญของโลก ซึ่งผลผลิตเกษตรในรูปแบบที่ยังไม่ผ่านการแปรสภาพนั้นมีมูลค่าต่ำและไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้สูงสุด การแปรรูปผลผลิตเกษตรเป็นผลิตภัณฑ์อาหารจึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อลดปัญหาการสูญเสีย ทั้งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ในหลายรูปแบบ และเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตเกษตรได้มหาศาล อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหารมีความต้องการกำลังคนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการอาหาร โดยเฉพาะด้านวิศวกรรมเครื่องจักรกลและกระบวนการผลิตอาหาร เพื่อสามารถพัฒนาระบบการผลิตให้เหมาะกับยุคโลกาภิวัตน์ที่มีการเปิดเสรีทางการค้า ทำให้เกิดการแข่งขันทั้งภายในและภายนอกประเทศ

การผลิตในภาคเกษตรกรรมของประเทศไทยได้มีการนำเทคโนโลยีการผลิตมาใช้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยได้กำหนดแนวทางการบริหารจัดการต้นทุนทางเศรษฐกิจ โดยเน้นการปรับโครงสร้างการผลิตให้มีประสิทธิภาพการผลิต และการเพิ่มมูลคุณค่าของสินค้าเกษตรให้สูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคเกษตรกรรมที่ต้องเร่งดำเนินการปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรให้ประเทศไทยมีความมั่นคงและความปลอดภัยด้านอาหาร ซึ่งจำเป็นต้องใช้บุคลากรวิศวกรด้านนี้เป็นอย่างมาก เป็นสาขาที่ประยุกต์ศาสตร์ด้านวิศวกรรมมาใช้กับงานทางการเกษตร ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และอาหาร

ลักษณะการทำงานของวิศวกรอาหาร

คือ การวิเคราะห์ วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร อันได้แก่ อาหารและเครื่องดื่มต่างๆ เพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิตทางเคมี รวมถึงวิจัยและพัฒนา ค้นหาผลิตภัณฑ์อาหารและกระบวนการผลิตชนิดใหม่ คำนวณและออกแบบกรรมวิธีการผลิต เครื่องจักร และอุปกรณ์ สำหรับใช้ในการผลิตเชิงอุตสาหกรรมเคมี เพื่อใช้ผลิตผลิตภัณฑ์อาหารนั้นๆ ตลอดจนคำนวณและออกแบบระบบและมาตรการความปลอดภัย และการกำจัดของเสีย ทั้งในการผลิต การใช้ การเก็บ การขนส่ง/เคลื่อนย้าย และการป้องกันสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์อาหาร

หน้าที่หลักในการปฏิบัติงาน

1.จัดหาเครื่องจักรและออกแบบสายการผลิตเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์อาหารในราคาประหยัด และมีประสิทธิภาพสูง
2.ออกแบบระบบการผลิต และเครื่องจักรใหม่ๆให้มีราคาเหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจ
3.ควบคุมดูแลบุคลากรในสายการผลิตให้ปฏิบัติงานอย่างถูกต้องเต็มศักยภาพ
4.ดูแลควบคุมสายงานการผลิตและการบรรจุอาหาร และหรือเครื่องดื่มให้เป็นไปตามแผนการผลิตที่วางไว้
5.ให้คำแนะนำและแก้ไขปัญหาระหว่างการผลิต ตลอดทั้งควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์
6.วางแผนการซ่อมบำรุงเครื่องจักรและอุปกรณ์การผลิต
7.ควบคุมดูแลป้องกันมลพิษที่เกิดจากการผลิตทั้งในและนอกโรงงาน
8.ปฏิบัติงานอื่นๆ ที่ได้รับมอบหมายและประสานงานกับฝ่ายที่เกี่ยวข้อง