ความต้องการแรงงานเกิดจากการขยายโรงงานใหม่ๆของผู้ประกอบการที่เพิ่งมาลงทุนและเกิดการเพิ่มกำลังการผลิตของโรงงานเดิม แม้ว่าในช่วงนี้ปริมาณการผลิตจะลดลงไปบ้างเนื่องจากตลาดที่ชะลอตัว แต่โดยรวมแล้วความต้องการก็ยังตึงตัว เพราะว่าการผลิตที่ลดลงไปนั้นเป็นการลดกะการทำงาน ไม่ได้ลดอัตราการจ้างงาน ซึ่งกลุ่มสายงานวิศวกรในประเทศไทย ยังคงเป็นสายงานที่มีความต้องการสูง และยังมีแนวโน้มความต้องการของตลาดแรงงานที่เพิ่มขึ้นตามสภาวะการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ
เมื่อมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC
อัตราความต้องการก็มีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้นไปอีก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นอัตราส่วนจะอิงกับการลงทุนที่เข้ามา ยังคงเชื่อมโยงไปถึงปัจจัยสำคัญ คือ การเมืองและเศรษฐกิจของไทย ปัจจุบันอุตสาหกรรมภายในประเทศไทยกำลังอยู่ระหว่างการเร่งพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต เพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ ซึ่งกลุ่มสายงานวิศวกรถือว่าเป็นตำแหน่งงานที่เป็นพื้นฐานสำคัญของทุกอุตสาหกรรมที่ขาดไม่ได้ เพราะโลกเทคโนโลยีมีความก้าวล้ำอยู่เสมอ ต้องอาศัยผู้ที่มีทักษะความชำนาญเฉพาะด้านมาเป็นผู้ควบคุมดูแล ยิ่งเมื่อใกล้เปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน กลุ่มสายงานวิศวกรก็ยิ่งเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมาก
การเร่งการผลิตแรงงานที่มีฝีมือและวิศวกรเพื่อรองรับการลงทุนขนาดใหญ่ของประเทศไทยในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยรัฐบาลกำลังวางแผนที่จะลงทุนในโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการ เช่น การก่อสร้างระบบรถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยงประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน, การขยายเส้นทางรถไฟฟ้าและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน เป็นต้น โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อจะทำงานร่วมกับภาคเอกชนในการผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพเพื่อตอบสนองความต้องการในตลาดแรงงานและวิศวกรรม ซึ่งจะมีการปรับเปลี่ยนหลักสูตรเพื่อให้แรงงานเท่าทันกับเทคโนโลยีใหม่ๆ
การแลกเปลี่ยนความรู้และทักษะด้านเทคโนโลยีกับประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มสมาชิกอาเซียน เพื่อเพิ่มศักยภาพของแรงงานให้สามารถรับมือกับการขยายตัวของการลงทุนในประเทศไทย รวมไปถึงการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีในตลาดแรงงานอาเซียนตามที่ได้ลงนามตกลงกันไว้ โดยมีการเน้นที่ 3 อุตสาหกรรมสำคัญคือ รถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์, ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์และการก่อสร้างและการสำรวจ ทั้งนี้แรงงานไทยยังเป็นที่ต้องการในตลาดแรงงานทั้งภายในประเทศและกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน จึงทำให้ต้องมีการเร่งพัฒนาให้ทันการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2015