บทบาทของวิศวกร เมื่อเริ่มเข้าทำงานในหน่วยงาน มีทั้งเป็น นักออกแบบผลิตภัณฑ์ นักออกแบบกระบวนการผลิต วิศวกรควบคุมการผลิต วิศวกรซ่อมบำรุงรักษา นักประเมินโครงการ วิศวกรโครงการ และอื่น ๆ แต่ละบทบาทที่ได้รับ ล้วนมีโจทย์หรือคำถามเชิงวิศวกรรมในการทำงานอยู่ตลอดเวลาและมีความซับซ้อนมากขึ้นตามระดับความรับผิดชอบของการทำงานที่สูงขึ้น
ความก้าวหน้าในอาชีพวิศวกรส่วนหนึ่งขึ้นกับความสามารถหลัก ในการตอบโจทย์ที่เผชิญหน้าได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้องแม่นยำ และนำไปสู่ Solution ที่เหมาะสม ถูกวิธี ถูกที่ ถูกทาง และถูกเวลา ดังนั้นวิศวกรควรต้องมีเครื่องมือที่ช่วยในการตอบโจทย์งานและเพิ่มขีดความสามารถหลักของตนเองได้อย่างมั่นใจ ปัจจุบันการหาคำตอบของโจทย์วิศวกรรมยังคงใช้วิธีการที่ใช้กันมานาน ได้แก่ การใช้ประสบการณ์การทำงานในโจทย์ที่มีความคล้ายกัน การใช้สัญชาติญาณทั่วไปทางวิศวกรรม การเลียนแบบผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่ประสบความสำเร็จ การใช้คู่มือวิศวกรรม หรือผลงานวิจัย ที่มีการทดลองตัวอย่างง่าย ๆ และมีสูตรสมการสำเร็จหรือกราฟความสัมพันธ์ที่ช่วยในการหาคำตอบ วิธีเหล่านี้เป็นเครื่องมือที่สามารถช่วยหาคำตอบของโจทย์ที่ไม่ซับซ้อน เช่น ปัญหา 1 หรือ 2 มิติ อย่างง่าย เป็นต้น หากโจทย์มีความซับซ้อน วิธีดังกล่าวข้างต้น ไม่สามารถนำมาใช้เป็นคำตอบของโจทย์ได้ชัดเจน ต้องมีการลดความเสี่ยงเชิงเทคนิค ที่จะเกิดความผิดพลาดโดยกำหนดค่าความปลอดภัย ไว้สูง อาจมีการลองผิดลองถูก ของคำตอบโจทย์ ทำให้เกิดการแก้ปัญหาไม่ถูกทาง อันเกิดจากวิศวกรไม่เข้าใจพฤติกรรมที่เกิดขึ้นกับผลิตภัณฑ์ที่ซับซ้อนนั่นเอง ผลเสียที่ตามมาคือ การสูญเสียเวลา เพิ่มต้นทุนสินค้า เสียกำลังคน ขีดความสามารถทางการแข่งขันหรือความเป็นมืออาชีพที่ลดลง นำไปสู่การไม่ได้งานจากลูกค้า เกิดการขาดทุน และเสียโอกาสทางธุรกิจ
CAE หรือคอมพิวเตอร์ช่วยในการคำนวณงานวิศวกรรม เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยในการหาคำตอบโจทย์วิศวกรรมด้วยการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์และช่วยในเรื่องการคำนวณที่ซับซ้อน ตั้งแต่โปรแกรมการคำนวณขนาดเล็กที่ฝังตัวอยู่ในเครื่องคำนวณ ไปจนถึงโปรแกรมขนาดใหญ่ที่ต้องคำนวณหาคำตอบแบบประมาณ (Approximate Solution) บนเครื่องซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ ระเบียบวิธีการคำนวณหาคำตอบแบบประมาณของโจทย์วิศวกรรมที่ซับซ้อนบนเครื่องคอมพิวเตอร์ได้มีการพัฒนาหลายระเบียบวิธี
จากประโยชน์ของการใช้งานเทคโนโลยี CAE ในการตอบโจทย์ทางวิศวกรรมได้ในหลากหลายอุตสาหกรรม ทำให้เทคโนโลยี CAE เป็นเครื่องมือวิศวกรรมสมัยใหม่ (New Engineering Tool) ของวิศวกรรุ่นใหม่ทั่วโลก ที่ใช้ในการพัฒนาขีดความสามารถของตนเอง ไปสู่วิศวกรมืออาชีพระดับสากล (Professional Engineer) ทำให้สถาบันการศึกษาและอบรมด้านวิศวกรรมได้ปรับเปลี่ยนหลักสูตรการศึกษาและการอบรมให้นักศึกษาหรือผู้เข้าอบรมมีความรู้และทักษะการใช้งานเทคโนโลยี CAE มากขึ้น โดยในสถาบันการศึกษามีการปูพื้นความรู้ระเบียบวิธีเชิงตัวเลข ตั้งแต่ชั้นปีที่ 2 ระดับปริญญาตรี ทำให้วิศวกรที่จบการศึกษาใหม่ทั้งระดับปริญญาตรี โท เอก และสายวิชาชีพ จะมีความรู้ในเทคโนโลยี CAE ไม่มากก็น้อย และต้องมาเรียนรู้ในที่ทำงานเพิ่มเติม เพื่อประยุกต์เข้ากับโจทย์วิศวกรรมของที่ทำงานให้ได้อย่างเหมาะสม ทำให้ต้องมีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ในเทคโนโลยี CAE
จากสิ่งแวดล้อมด้านเทคโนโลยี CAE ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและมีผลต่อวงการวิศวกรรมทั้งภาคการศึกษา ภาคการวิจัยและภาคอุตสาหกรรม ทำให้วิศวกรที่มีหน้าที่ในระดับปฏิบัติงาน ระดับการบริหารทีมงานและเทคโนโลยี จนถึงผู้บริหารระดับสูง จำเป็นต้องปรับตัวเองให้เรียนรู้และเข้าใจในเทคโนโลยี CAE เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในอาชีพ และการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ให้เป็นทรัพยากรมนุษย์ ที่ควรค่าแก่การลงทุน (Capital) ดังนั้นการเร่งพัฒนาตนเองของวิศวกรให้ก้าวไปสู่วิศวกรมืออาชีพระดับสากล ด้วยเทคโนโลยี CAE จึงเป็นสิ่งที่วิศวกรไทยควรที่จะให้ความสำคัญเป็นระดับต้น ๆ ก่อนที่มีการนำเข้าวิศวกรจากต่างประเทศให้มาทำงานแทนที่วิศวกรไทยในอนาคตอันใกล้